คุณอยู่ที่: หน้าแรก ข่าวประชาสัมพันธ์ ประชาสัมพันธ์การจัดสร้างวัตถุมงคล เนื่องในโอกาสการสถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบ 130 ปี
ประชาสัมพันธ์การจัดสร้างวัตถุมงคล เนื่องในโอกาสการสถาปนากระทรวงมหาดไทย ครบ 130 ปี
ประชาสัมพันธ์ประชาชนผู้สนใจ การจัดสร้างวัตถุมงคล เนื่องในโอกาสสถาปนากระทรวงมหาดไทย 130 ปี
วัตถุมงคลที่จัดสร้าง ได้แก่
1. ราชสีห์มงคลเนื้อทองคำ 260 องค์ (90,000 บาท)
2. เนื้อเงิน 2,565 องค์ (5,000 บาท)
3. เนื้อรมดำ 25,650 องค์ (500 บาท)
4. ราชสีห์ใหญ่เนื้อโลหะพิเศษ 2,565 องค์ (10,000 บาท)
5. พระพุทธมุนีศรีประชานาถ (จำลอง) หน้าตัก 9 นิ้ว 1,300 องค์ (13,000 บาท)
3. เหรียญพระพุทธมุนีศรีประชานาถ ขนาด 2.4 ซม. 20,000 เหรียญ (130 บาท)
ผู้สนใจวัตถุมงคล : สามารถสั่งจองมา ณ องค์การบริหารส่วนตำบลพรสำราญ โทร.044-666354
การจัดสร้างวัตถุมงคล เนื่องในโอกาสสถาปนากระทรวงมหาดไทย 130 ปี
กระทรวงมหาดไทยมีอายุครบ 130 ปี ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ภารกิจเมื่อแรกตั้ง เน้นจัดระเบียบงานมหาดไทยให้รวมอยู่ในที่เดียวกัน ดังสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ว่า “ในยุคสมัยนั้นระเบียบการปฏิบัติงานต่างๆ ขาดความชัดเจน งานก็ยังเหลื่อมซ้อนกันกับหน่วยงานอื่นๆ วิธีการปฏิบัติงานก็ล้าสมัย จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องทรงมีพระราชดำริเป็นยุติให้ฟื้นราชการมหาดไทยทั้งกระทรวง”
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดี ทรงริเริ่มแนวคิดการทำงานที่มุ่งเน้นอุดมการณ์ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยทำนุบำรุงบ้านเมืองเสียตั้งแต่ยามปกติ ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาเสียก่อนค่อยดำเนินการ มีการตั้งกรมต่างๆ ขึ้น และดึงอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองที่เคยกระจายอยู่หลายหน่วย มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยเพียงแห่งเดียว ทำหน้าที่ในงานปกครองหัวเมือง งานรักษาความสงบเรียบร้อย งานรักษาความสะอาด งานอัยการ งานสาธารณสุข งานป่าไม้ งานเหมืองแร่และงานเก็บภาษีอากร
สถานที่ปฏิบัติงานของกระทรวงมหาดไทย เดิมใช้ศาลาลูกขุนใน (ฝ่ายซ้าย) ที่ตั้งอยู่ภายในเขตพระบรมมหาราชวัง ส่วนบริเวณกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน เดิมใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงนครบาลและกระทรวงโยธาธิการ ภายหลังได้ยุบรวมมาอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ตัวที่ทำการกระทรวงเอง ย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบันเมื่อปี 2476
อาณาบริเวณกระทรวงมหาดไทยในทุกวันนี้ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่วังของเจ้านายชั้นสูง 3 วัง ได้แก่ “วังริมสะพานช้างโรงสี วังใต้” เป็นวังของพระองค์เจ้าเนียม กับ “วังถนนเฟื่องนคร วังเหนือ” ซึ่งเป็นวังของกรมขุนภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ทั้งสองวังนี้ได้ถูกปรับมาสร้างศาลาว่าการกระทรวงนครบาล และสุดท้ายคือ “วังถนนเฟื่องนคร วังใต้” อันเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระบิดาของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ต่อมาหลังกรมขุนเจริญผลฯ สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ร.5 รับสั่งถามกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ฯ ผู้เป็นโอรสได้ความว่า จะผนวชไปตลอดพระชนม์ชีพ จึงโปรดฯให้นำพื้นที่วังเดิมก่อสร้างศาลาว่าการกระทรวงโยธาธิการ ในภายหลังพื้นที่ทั้งหมดได้ถูกโอนมาเป็นของกระทรวงมหาดไทยจนปัจจุบัน ดังนั้น ถือได้ว่ากระทรวงมหาดไทยกับวัดราชบพิธฯ มีความใกล้ชิดผูกพันกันมาแต่ครั้งกระโน้น
ในโอกาสอันสำคัญยิ่งนี้ มีการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำกระทรวงมหาดไทย ขนาดหน้าตักกว้าง 32 นิ้ว ขึ้นเพื่อเตรียมนำไปประดิษฐาน ณ ศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทยแห่งใหม่ ที่กำลังก่อสร้างในเขตคลองสาน กำหนดแล้วเสร็จปี 2569 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานนามว่า “พระพุทธมุนีศรีประชานาถ” แปลว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นที่พึ่ง อันนำมาซึ่งความเจริญของปวงประชา” รวมทั้งจัดสร้างวัตถุมงคลเพื่อตอบแทนแก่ผู้มีจิตศรัทธา บริจาคเงินสมทบ “กองทุนสาธารณกุศล 130 ปี กระทรวงมหาดไทย” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมสมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) ตำบลคลองเก้า อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จำนวน 50,000,000 บาท และใช้สำหรับสงเคราะห์บุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยและครอบครัว ที่มีปัญหาความเดือดร้อนหรือประสบภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย
ทั้งนี้ ได้รับพระเมตตาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีเททองหล่อพระเกศ “พระพุทธมุนีศรีประชานาถ” และเททองหล่อราชสีห์มหามงคล เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยมีแผ่นทอง-เงิน-นาค ที่ผ่านการจารอักขระและอธิษฐานจิต จากเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมจากทั้ง 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เป็นมวลสารสำคัญ
พิธีพุทธาภิเษกจะจัดขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2565 ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมีพระอาจารย์วราห์ ปุญญวโร เจ้าอาวาสวัดโพธิทอง เขตจอมทอง เป็นเจ้าพิธี และคณาจารย์นั่งปรก 8 รูป ได้แก่ หลวงพ่อชำนาญ วัดชินวราราม จ.ปทุมธานี หลวงพ่อแป๊ะ วัดสว่างอารมณ์ จ.นครปฐม หลวงปู่ฤษีตาไฟ วัดเทพหิรัญย์ จ.ชัยนาท หลวงพ่ออุดมทรัพย์ วัดประสิทธิเวช จ.นครนายก หลวงพ่ออิฏฐ์ วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม หลวงพ่อเจริญ วัดโนนสว่าง จ.อุดรธานี หลวงพ่อพบโชค วัดห้วยปลากั้ง จ.เชียงราย และพระอาจารย์สุริยันต์ วัดป่าวังน้ำเย็น จ.มหาสารคาม